การตรวจสอบบัญชี

การตรวจสอบบัญชี

 
      สวัสดีครับ ก่อนอื่นผมขออธิบายลักษณะของรายการ “บัญชีเงินฝากธนาคาร” สักเล็กน้อย บัญชีเงินฝากธนาคารคือ บัญชีหลักสำหรับกิจการ ไว้ใช้บัญทึกการรับเงินค่าขาย หรือค่าบริการจากลูกค้า และเป็นบัญชีสำหรับรายการจ่ายค่าใช้จ่าย ที่เป็นตัวหลักๆ ของกิจการ โดยบัญชีเงินฝากธนาคารโดยทั่วไป จะประกอบด้วยบัญชีเดินสะพัดหรือบัญชีกระแสรายวัน และบัญชีฝากออมทรัพย์ รวมไปถึงบัญชีเงินฝากประจำที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน ที่พร้อมจะแปรสภาพมาให้กิจการใช้สอยได้ทันที ที่เรียกหา

     ส่วนบัญชีเงินฝากประจำ ที่มีอายุเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไปและบัตรเงินฝากธนาคาร ทั้งหลายนั้น ปัจจุบัญถูกจัดให้ไปอยู่ ในบัญชีเงินลงทุนระยะสั้น และแยกแสดง เป็นรายการต่างหากในงบดุล ซึ่งเป็นไป ตามประกาศของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพานิชย์ เรื่อง การแสดงรายการย่อในงบการเงิน

     ส่วนอีกหนึ่งบัญชีคือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ถ้าเป็นในอดีตบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อาจถือเป็น รายการหนึ่งในเงินลงทุนก็ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แทบไม่ถึงร้อยละ 1 บาท หรือมีก็ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับ ยุคเศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองสุดขีด

     ดังนั้นในปัจจุบันจึงถือเอาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แสดง รวมไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร และแสดงรวมในหัวข้อ บัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่แสดงเป็นเงินลงทุนระยะสั้นเหมือนแต่ก่อน



วิธีตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคาร ควรเริ่มต้นจาก

     1. การวิเคราะห์เปรียบเทียบยอดเงินคงเหลือ ณ วันสิ้นรอบบัญชีปัจจุบันกับวันสิ้นรอบบัญชีในงวดก่อน แล้วติดตามหาสาเหตุ ของผลแตกต่าง โดยวิธีการสอบถามจากเจ้าของรายการ หรือผู้เกี่ยวข้อง
     2. ตรวจยันยอดคงเหลือในบัญชีเงินฝากธนาคารแต่ละบัญชีในงวดปัจจุบัน ณ วันสิ้นงวด โดยสอบยันยอดคงเหลือ กับยอดคงเหลือ ณ วันเดียวกันกับสมุดเงินฝากธนาคาร, Bank Statement ตามยอดคงเหลือที่ปรากฏ ณ วันสิ้นงวดบัญชี กรณีที่ยอดคงเหลือตามสมุดบัญชีของบริษัทมียอดคงเหลือไม่เท่ากับยอดตามสมุดเงินฝากธนาคารหรือ Bank Statement ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องตรวจสอบกระทบยอดคงเหลือ กับงบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร ณ วันสิ้นรอบบัญชีเดียวกัน

     นอกจากนี้ผู้ตรวจสอบบัญชียังจะต้องตรวจดูความถูกต้องของงบพิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร โดยการตรวจย้อนรอยเริ่มตั้งแต่ ต้นทางของการทำงบพิสูจน์เงินฝากธนาคารจนได้มา ซึ่งงบพิสูจน์ยอดเงิน ฝากธนาคาร และนอกจากผู้สอบบัญชีต้องย้อนรอย ตรวจขั้นตอนของการจัดทำงบ พิสูจน์ยอดเงินฝากธนาคาร แล้ว ผู้สอบบัญชียังต้องมีหน้าที่ในการตรวจรายการที่ปรากฏ เป็นยอดคงค้าง ติดในรายการงบพิสูจน์ ยอดเงินฝากธนาคารอีก เช่น เงินที่รับล่วงหน้าแต่ยังไม่ปรากฏรายการรับเงินในสมุดบัญชี เงินฝากธนาคาร หรือรายการจ่ายที่ผู้รับเงินยังไม่นำไปขึ้นเงิน หรือตัดบัญชีธนาคาร ด้วยการตรวจการรับ-จ่ายชำระกับสมุด เงินฝากธนาคารและ Bank Statement ภายหลังวันที่ที่ปรากฏ ในงบการเงิน

     ยกตัวอย่าง เช่น เราตรวจความถูกต้องของยอดคงเหลือที่ปรากฏในงบพิสูจน์ ยอดเงินฝาก ของธนาคาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม กับรายการรับ-จ่ายที่ปรากฏรายการรับ-จ่ายในสมุดเงินฝากธนาคาร หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม เป็นต้นไป จนถึงรายการล่าสุด ณ วันที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ในหมู่ Auditor เรียกวิธีการตรวจนี้ว่า”การตรวจ Subsequent Event” หรือ “การตรวจเหตุการณ์หลังวันที่ในงบ การเงิน” ซึ่งบ่อยครั้ง มักจะพบ รายการสอดไส้ในการจัดทำงบพิสูจน์ ยอดเงินฝากธนาคารด้วยวิธีนี้ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนวิธีการตรวจสอบในข้อถัดไป ไม่สามารถบรรจุให้จบได้ในตอนนี้ ผมขอยกยอดไป ต่อในตอนหน้านะครับ สวัสดีครับ


ที่มา : http://www.dharmniti.co.th/article19.php


 
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์