“ต่อยอดเงินออมด้วยการลงทุน แล้วจะทำให้เรามีเงินใช้ไปถึงวัยอิสระหลังอายุ 60 ปี”
เป็นคำพูดหนึ่งของโฆษณาในทีวีที่เราได้ยินบ่อยๆ มีตั้งแต่แนะนำหุ้น กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ พอฟังไปเรื่อยๆก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “ถ้าทำให้เงินเติบโตขึ้นจริงๆ แล้วทำไมช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ถึงเละตุ้มเป๊ะซะขนาดนั้นล่ะ แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่เรายังไม่รู้…”
เมื่อต่อมอยากรู้อยากเห็นเริ่มทำงาน ก็ต้องหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น ใช้เวลาค้นคว้าหาคำตอบอยู่นานกว่าจะเข้าใจ จนกระทั่งหลงเสน่ห์การลงทุนเข้าอย่างจัง จึงเริ่มแคะกระปุกออมสินมาเริ่มลงทุน ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 9 ปี ที่ก้าวเท้าเข้ามาสู่โลกของการลงทุน เรื่องราวจุดเริ่มต้น ข้อคิดต่างๆที่ได้จากกรลงทุนเป็นอย่างไร อภินิหารเงินออมสรุปไว้ที่บทความนี้แล้ว
เริ่มต้นศึกษาจากความผิดพลาด
แนวคิดเรื่องการลงทุน คือ เริ่มศึกษาจากความผิดพลาดของนักลงทุนรุ่นลายคราม เพื่อเป็นบทเรียนที่เราจะได้รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ สรุปออกมาสั้นๆ ดังนี้
เริ่มป้ายแรกที่ “กองทุนรวมตลาดเงิน” แต่พอดู NAV ทีไรเห็นเงินขึ้นแบบกระดืบๆ มันเห็นแล้วห่อเหี่ยวใจ อยากจะซื้อหุ้นก็ยังไม่กล้า เพราะไม่รู้ระบบว่าจะต้องทำอย่างไร
พอมาเจอ click2win ของตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นโปรแกรมเทรดหุ้นเสมือนจริง เราถึงได้รู้ว่าตลาดหุ้นจริงๆเป็นอย่างไร ถ้าอยากซื้อขายก็มีเงินปลอมมาให้ทดลองส่งคำสั่ง เราก็ถึงบางอ้อว่าเขาซื้อขายกันแบบนี้นี่เอง ง่ายมากๆ ถ้าใครอยากรู้ระบบการซื้อขาย ลงทะเบียนเล่นได้ฟรี ลองดูๆ
ที่มา : http://click2win.settrade.com/SETClick2WIN/index.jsp
พอเริ่มรู้ระบบแล้วก็ติดต่อธนาคารเพื่อเปิดบัญชีหุ้น เจ้าหน้าที่การตลาดก็แนะนำวิธีซื้อขายว่าทำยังไงบ้าง ซึ่งบัญชีการซื้อขายหุ้นมี 3 ประเภท คือ
ซื้อขายเงินสด 100% ต้องการลงทุนแค่ไหน ก็โอนเงินไปวางไว้ในบัญชีหุ้นแค่นั้น เช่น ต้องการลงทุน 50,000 บาท เราก็โอนเงิน 50,000 บาทไปเก็บไว้ในบัญชีหุ้น ถ้ายังไม่ซื้อหุ้นก็จะได้รับดอกเบี้ยประมาณ 1%++ (ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%)
วางเงินค้ำประกัน 20% นำเงินหรือหุ้นมาค้ำประกัน พอซื้อหุ้นแล้วระบบก็จะไปตัดเงินในบัญชีธนาคาร เช่น วางเงิน 20,000 บาท สามารถซื้อขายได้สูงสุด 100,000 บาท
Margin มีวงเงินปล่อยกู้ คือ นำเงินหรือหุ้นมาค้ำเพื่อกู้ยืมเงินมาลงทุน
เราตั้งใจว่าจะลงทุนด้วยการวางเงิน 100% เพื่อป้องกันตัวเองมือซนเล่นเก็งกำไรเกินกว่าเงินที่มี และใช้วิธีซื้อขายแบบออนไลน์ เพราะมีค่าธรรมเนียมถูกที่สุด คือ 0.15% ของจำนวนเงินที่ซื้อหรือขาย
วิธีการเลือกหุ้นของแต่ละคนก็แตกต่างกัน เราเลือกหุ้นจากสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ดูพื้นฐานของหุ้นเป็นหลักว่ามีรายได้จากอะไร การเติบโตในอนาคตเป็นอย่างไร ตั้งเงื่อนไขกับตัวเองไว้ว่า ถ้าได้กำไร 10% แล้วขายเก็บกำไรทันที(ตอนนี้ก็ปล่อยไว้เรื่อยๆไม่ได้ซื้อขายบ่อยๆ) มีจดบันทึกการลงทุนไว้ด้วยว่าซื้อและขายหุ้นตัวนี้เพราะอะไร เช่น ขายเพราะราคาขึ้นถึงเป้าหมายที่คิดไว้แล้ว การจดมันดีนะเพราะเราจะได้รู้ว่าตอนนั้นเราตัดสินใจอย่างไร
หลังจากนั้นก็อยากรู้วิธีจับจังหวะการซื้อขายว่าหุ้นที่เรากำลังสนใจอยู่นี้ถึงเวลาซื้อหรือขายแล้วรึยัง มันก็ต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับการอ่านกราฟ เห็นในอินเทอร์เน็ตแนะนำว่าให้อ่าน “มหัศจรรย์แห่งเทคนิค” เราก็ดั้นด้นไปหาซื้อมาอ่านจนได้ ตอนแรกก็มึนตึบว่ามันคืออะไร พออ่านวนซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบก็เข้าใจวิธีการอ่านกราฟมากขึ้น จึงเริ่มกลายร่างจากนักลงทุนหุ้นพื้นฐาน กลายเป็นสายเก็งกำไร โดยตั้งกฎเพื่อสร้างวินัยการลงทุนให้ตัวเองว่าถ้าขาดทุนถึง 10 - 15% หรือต่ำกว่าราคาในกราฟที่ตั้งไว้ จะขายขาดทุนทันที เพื่อรักษาเงินต้นไว้
เคล็ดลับหาหุ้นเพิ่มเติม
สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มลงทุนหุ้น แต่ไม่รู้จะเลือกซื้อหุ้นตัวไหนแนะนำ 2 วิธี คือ
1. ใช้โปรแกรมสแกนหุ้น
วิธีนี้จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับโบรกเกอร์ก่อน เพราะจะมีเครื่องมือในการเลือกหุ้นและบทวิเคราะห์ต่างๆให้อ่าน จากหุ้นหลายร้อยตัวจะกรองให้เหลือไม่กี่ตัว ก็ต้องใช้โปรแกรมสแกนหุ้น โดยเราตั้งเงื่อนไขของหุ้นที่เราอยากได้ขึ้นมา แล้วใส่ลงไปในโปรแกรม จากนั้นระบบจะคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจออกมา เราเลือกเฉพาะหุ้นที่เราเข้าใจในธุรกิจแล้วค่อยอ่านงบการเงินเพื่อคัดเลือกหุ้นที่ดีที่สุดต่อไป
2. ลอกการบ้านจากกองทุนรวม
เราคัดเลือกกองทุนรวมหุ้นที่ผลตอบแทนดีที่สุด 1 - 10 อันดับแรก (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์จะมีประกาศทุกปี) จากนั้นก็เข้าไปดูในหนังสือชี้ชวนว่าแต่ละกองทุนรวมเลือกหุ้นอะไรกันบ้าง ให้สัดส่วนในการลงทุนเท่าไหร่ พร้อมทั้งกลยุทธ์ในการลงทุน เพื่อเป็นตัวเลือกในการหาแนวทางการลงทุนของตัวเองต่อไป แล้วเลือกหุ้นที่เราสนใจ แต่ยังไม่ซื้อทันที เพราะเราจะต้องอ่านพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นเองอีกครั้ง พร้อมกับดูกราฟเพื่อเลือกจังหวะการซื้อขายก่อนตัดสินใจ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วงที่ลงทุนหุ้นได้กำไรมากที่สุด จะเป็นช่วงที่ทำงานไปด้วยและลงทุนไปด้วย เพราะเราเปิดพอร์ตหุ้นดูช่วงตอนเย็นเท่านั้น ซึ่งตอนที่เข้ามาลงทุนหุ้นครั้งแรกเป็นจังหวะที่ตลาดหุ้นขาขึ้นด้วย มันซื้ออะไรก็ได้กำไร เพียงแต่ว่าได้มากหรือน้อยเท่านั้น ยิ่งได้กำไรก็ยิ่งมั่นใจ ซึ่งในความมั่นใจนี้ก็มีความหายนะผุดขึ้นมาด้วย
ในขณะที่ขาดทุนยับเยินที่สุด คือ ช่วงที่เปิดหน้าจอเทรดหุ้นทั้งวัน เพราะใจของเราหวั่นไหวที่เห็นราคาหุ้นขึ้นๆลงๆ หุ้นที่เรามีนิ่งมาก แต่หุ้นคนอื่นวิ่งขึ้นกันหูดับตับไหม้ เราก็เลยเปลี่ยนใจไปหาหุ้นที่กำลังวิ่งบ้าง พอขายตัวที่เรามีเท่านั้นแหละ หุ้นเด้งราคาขึ้นทันที แต่ตัวที่เราไปเกาะอยู่นั้นก็หยุดวิ่งซะแล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ติดลบหนักถึง 50% อยู่เกือบปี แล้วทนไม่ไหวและรู้สึกผิดกับตัวเองจากกฎที่ตั้งว่าจะขาย Cut Loss (ขายตัดขาดทุน) ที่ 10 - 15% พอขายเท่านั้นแหละ อีกไม่กี่เดือนต่อมามันขึ้นมาเกือบเท่าทุนเดิมเลยจ้า แหม!! ชีวิตต่ำตมได้อีก #เลิกเก็งกำไรเลยจ้า
ทำให้เราค่อนข้างกังวลกับนักลงทุนที่ทำงานแล้วอยากจะลาออกมาเทรดหุ้นเพียงอย่างเดียว เพราะคิดว่าเทรดหุ้นเต็มเวลาแล้วจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ช้าก่อนที่รัก ดูงานวิจัยนี้ก่อนนะคะ จากบทความหนึ่งในกรุงเทพธุรกิจได้เขียนถึงเรื่องการลงทุนไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถือหุ้นยาว & เทรดหุ้นสั้น ผลตอบแทนใกล้เคียงกัน แต่ความเสี่ยงแตกต่างกัน”
สรุปออกมาได้ดังนี้...
ผลตอบแทน : การลงทุนตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี วิธีการซื้อหุ้นแล้วเก็บระยะยาวกับการซื้อขายบ่อยๆ (เทรดดิ้ง)ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือ อยู่ที่ 14.7%
ความเสี่ยง : การลงทุนระยะสั้นและยาวได้ผลตอบแทนแตกต่างกัน
การลงทุนระยะสั้น 1 ปีโอกาสได้ผลตอบแทนตั้งแต่ 74.9% ถึง -39.15% ต่อปี
การลงทุนระยะยาว 10 ปี ช่วงของผลตอบแทนนั้นจะอยู่ที่ 18.9% ถึง 8.12% ต่อปี
จากเรื่องนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการลงทุนระยะยาวนั้นผลตอบแทนแกว่งขึ้นลงน้อยกว่าการลงทุนระยะสั้นที่ซื้อๆขายๆ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประสบการณ์เรื่องการลงทุนหุ้น สำหรับคนที่อยากทำให้เงินออมเติบโต อภินิหารเงินออมคิดว่าบทความนี้น่าจะเป็นแนวทางให้เริ่มศึกษาเรื่องการลงทุนหุ้นได้เอง
ขอให้ทุกคนโชคดีกับการเริ่มต้นลงทุน
ข้อมูลเพิ่มเติม
ตีแตก รายละเอียดหนังสือ => https://goo.gl/ayKT6P
ไล่ล่า รายละเอียดหนังสือ => https://goo.gl/TTyWQq
มหัศจรรย์แห่งเทคนิค รายละเอียดหนังสือ => https://goo.gl/VWx7uD
เหนือกว่าวอลสตรีท รายละเอียดหนังสือ => https://goo.gl/LCe2G3
ถือหุ้นยาว & เทรดหุ้นสั้น แบบไหนดีกว่ากัน => http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643622