หากสภาพถดถอยดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้กระเตื้องขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั่นเอง
ประเด็นที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คือ เมื่อมองภาพรวมของโลกเราจะพบว่า มีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อยู่มากมายถึง 5
ประเทศด้วยกันที่กำลังเกิดภาวะถดถอยอยู่ในขณะนี้ หรือจ่อ ๆ จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน
ประเทศแรกก็คือ สหราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ประเทศอังกฤษ ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสอง
อยู่ในสภาพหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2012 และยังไม่มีที่ท่าว่าจะกระเตื้องขึ้นชัดเจนในไตรมาส 3
ถัดมาคือ เยอรมนี ที่มีการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ออกมาเมื่อ 14 สิงหาคมนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า
ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกประเทศนี้มีอัตราการขยายตัวเป็นลบในช่วง 3 เดือนจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อีกชาติใหญ่ในยุโรปเช่นกัน อย่างอิตาลี อัตราการขยายตัวนิ่งสนิทเป็นแนวระนาบ พร้อมกับที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ก็ยืดเยื้อ
ยังไม่มีจุดลงเอย ในขณะที่ประเทศอย่าง บราซิล ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแถบละตินอเมริกา ประสบปัญหาผลผลิตทางด้าน
อุตสาหกรรมอ่อนแอลง อัตราว่างงานถีบตัวสูงขึ้น ยังไม่มีการประกาศตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการ แต่นักสังเกตการณ์เห็นพ้องกันว่า
ประกาศออกมาเมื่อใดเท่ากับเป็นการยืนยันว่าเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นที่บราซิลเมื่อนั้น
อีกชาติอย่าง เม็กซิโก ภาวะการลงทุนหดหายไปเร็วมากและเยอะมาก นอกจากนั้น ภาคอุตสาหกรรมบริการในประเทศก็เริ่มทรุดลงตามแรงกดดันแล้ว
สุดท้ายเมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางเม็กซิโกก็จำเป็นต้องประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้ง 5 ชาตินั้นถือเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ติดอันดับท็อป 20 ของโลกทั้งสิ้น ถ้านับรวมเอาประเทศที่แม้จะมีขนาดเล็ก
แต่มีความสำคัญในแง่ของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าของภูมิภาค อย่างสิงคโปร์ และฮ่องกง รวมเข้าไปด้วยก็สามารถ
สะท้อนให้เห็นภาพของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี
ในแต่ละประเทศเหล่านั้น มีปัจจัยที่ประกอบขึ้นเป็นสาเหตุหลักในการผลักดันให้เศรษฐกิจวูบลงอยู่เฉพาะตัวของแต่ละประเทศก็จริงอยู่
แต่สภาวะสงครามการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกากับจีนก็ทำให้ภาคการผลิตทั่วโลกทรุดตัวลง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ
ก็ลดวูบลงอย่างน่าใจหายไปทั่ว กลายเป็นปัจจัยทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจจีน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกชะลอตัวลงสู่ระดับขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี
ในกรณีของเยอรมนีนั้นชัดเจนว่า ผลกระทบเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจเยอรมนีต้องพึ่งพาสินค้าส่งออกไปยัง
สหรัฐอเมริกาและจีนอยู่สูงมาก และเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้รับผลกระทบจากกรณี “เบร็กซิต” ของอังกฤษมากที่สุด
นักวิเคราะห์บางคนถึงกับฟันธงแล้วว่า “ยุคทอง” ของเศรษฐกิจเยอรมัน ที่ดำเนินต่อเนื่องมา 10 ปีนั้น สิ้นสุดลงแล้ว
แต่ผลกระทบจากเบร็กซิตก็ไม่ได้ส่งผลดีต่ออังกฤษเองมากมายเท่าใดนัก ถ้าหากจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง ๆ
เศรษฐกิจของอังกฤษต้องขยายตัวเป็นบวกให้ได้ในไตรมาส 3
หาก บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เพิ่งรับตำแหน่งได้ไม่นาน ยืนกรานตามเจตนาเดิมที่จะนำอังกฤษถอนตัวออกจากอียูภายใน 31 ตุลาคมนี้
โดยไม่ไยดีว่าจะมีความตกลงช่วยบรรเทาผลกระทบหรือไม่
ภาวะถดถอยของอังกฤษก็กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน
นีล เชียริง หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นเอาไว้น่าคิดอย่างยิ่งว่า แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบางประเทศ
บางจุดจะอ่อนแอย่ำแย่กว่าที่อื่น แต่ส่วนที่เหลือน่าจะยังไม่เลวร้ายเท่าใดนัก สภาพเศรษฐกิจในส่วนที่เหลือของโลกอย่างแย่ก็อยู่ในสภาพชะลอตัว
ไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอยขึ้นทั้งโลก เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดปัจจัยเสี่ยง 3 ประการขึ้นตามมาหลังจากนี้
แรกสุด ที่เป็นเรื่องใหญ่สุดก็คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนไม่เพียงยืดเยื้อต่อไป แต่จะเพิ่มอุณหภูมิเพิ่มดีกรีมากยิ่งขึ้นไปอีก
ความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะตกวูบติดพื้นตามมาทันที
ถัดมาก็คือ บรรดาธนาคารกลางทั้งหลายเกิดย่ามใจ ไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางลบจากตลาดเงินโลก
สุดท้ายก็คือ สภาพปัญหาระดับวิกฤตในภาคการผลิตของโลกในเวลานี้ระบาดเข้าไปสู่ภาคบริการของโลกที่เป็นปัจจัยหนุนการขยายตัว
ของเศรษฐกิจโลกอยู่ในเวลานี้
เมื่อนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วทั้งโลกก็อาจเกิดขึ้นตามมา