การได้เงินภาษีคืน อาจเป็นเหมือนได้โบนัสสำหรับบางคน เพราะเหมือนได้เงินก้อนหนึ่งกลับเข้ากระเป๋าเราแบบฟรี สามารถนำไปใช้จ่ายตามความต้องการได้ ดังนั้นเพื่อให้ได้เงินคืน ช่วงปลายปีหลายคนจึงพยายามหาสิทธิต่างๆ เพื่อนำมาลดหย่อน และหวังว่าเมื่อคำนวณแล้ว เงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จะเกินว่าเกณฑ์ที่ตัวเองได้เสียไป
หากใครที่กำลังเตรียมเอกสารในการยื่นแบบอยู่ และยังไม่แน่ใจว่ารายได้อะไรบ้างที่ต้องยื่นเสียภาษี แล้วมีสิทธิอะไรบ้างที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้
แน่นอนว่าเมื่อคุณยื่นภาษี ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อระบบคำนวณแล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับเงินภาษีคืน แต่จะมีอีกหลายคนที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม เนื่องจากภาษีที่เสียไปในรอบปี ยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด หรือเงินภาษีซึ่งหัก ณ ที่จ่ายตลอดทั้งปีที่ผ่าน ยังน้อยกว่าจำนวนภาษีที่คุณต้องจ่าย ตามเกณฑ์รายได้ที่สรรพากรกำหมด ถ้าคุณคือคนต้องจ่ายภาษีเพิ่ม รู้ไหมว่าเราต้องทำอะไรบ้าง
หากคุณยื่นเอกสารเรียบร้อย และระบบแจ้งว่าคุณต้องชำระเพิ่ม คุณสามารถจ่ายได้หลากหลายวิธีต่อไปนี้ เลือกได้ตามความสะดวก
ชำระด้วยเงินสด กับเจ้าหน้าที่สรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ จะออกหลักฐานใบเสร็จ แสดงการรับเงินภาษี และถือเป็นหลักฐาน แสดงการยื่นแบบแสดงภาษีให้กับเรา
จ่ายด้วยบัตรเครดิต ซึ่งวิธีการนี้ คุณต้องไปยื่นชำระกับเจ้าหน้า ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ แต่การชำระด้วยบัตรเครดิตคุณต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการจ่ายผ่านบัตรเอง และที่สำคัญไม่ใช่ทุกสาขาของสำนักงานสรรพากรจะรับชำระด้วยบัตร โดยมีเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่รับชำระด้วยบัตรเครดิต คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ระยอง นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี แต่ก็ไม่ใช่ทุกสาขาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น
ชำระด้วยเช็คหรือดราฟ โดยมีเช็คที่ชำระได้อยู่ 4 ประเภทคือ เช็คธนาคารแห่งประเทศไทย (เช็คประเภท ก.) , เช็คที่มีธนาคารค้ำประกัน (เช็คประเภท ข.) , เช็คที่ธนาคารเซ็นสั่งจ่าย (เช็คประเภท ค.) และ เช็คที่ผู้มีหน้าที่ชำระเงินภาษีอากรเป็นผู้เซ็นสั่งจ่าย และใช้ชำระโดยตรง (เช็คประเภท ง.)
แต่การชำระด้วยเช็คหรือดราฟต์ จะมีเงื่อนไขที่สำคัญคือเรื่องเวลา โดยห้ามใช้เช็คลงวันที่ล่วงหน้า ห้ามใช้เช็คหรือดราฟต์โอนสลักหลัง และห้ามใช้เช็คหรือดราฟต์ที่มีจำนวนเงินสูงกว่าจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระ
กรณียื่นที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เช็คทุกประเภทหรือดราฟต์ ต้องลง วันที่ในเช็ค ในวันที่ยื่นแบบฯ หรือ ก่อนวันที่ที่ยื่นแบบฯ ไม่เกิน 15 วัน สำหรับเช็คประเภท ก. ข. ค. หรือดราฟต์ หรือไม่เกิน 7 วัน สำหรับเช็คประเภท ง.
กรณียื่นที่ธนาคาร/ที่ทำการไปรษณีย์ เช็คทุกประเภท หรือดราฟต์ที่ชำระภาษี ต้องลงวันที่ในเช็คในวันที่ยื่นแบบฯ หรือก่อนวันที่ยื่นแบบฯ ไม่เกิน 7 วัน
เมื่อกรมสรรพากร ได้รับเงิน ตามเช็ค หรือ ดราฟต์ครบถ้วนแล้วการชำระภาษี จะถือว่าสมบูรณ์
ชำระด้วยธนาณัติ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือพูดง่ายๆ คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ โดยส่งธนาณัติเท่ากับจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ ไปพร้อมกับการ ยื่นภาษี โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 (ห้ามหักค่าธรรมเนียม ในการส่งธนาณัติ)
โดยสั่งจ่าย “ผู้อำนวยการกองบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร” ปณ.กระทรวงการคลัง
ในกรณีที่คุณคิดว่า เงินภาษีที่คุณต้องชำระเพิ่มมีจำนวนค่อนข้างมาก และไม่สามารถชำระได้ในครั้งเดียว กรมสรรพากรกำหนดว่า ถ้ามีจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป เราสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ โดยสามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด แบ่งจ่ายงวดละเท่าๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
เช่น หากคุณต้องต้องชำระภาษี 6,000 บาท คุณก็ขอผ่อนจ่ายได้งวดละ 2,000 บาท 3 งวด
โดยสามารถติดต่อขอผ่อนชำระกับเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา โดยสามารถ ยื่นภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการ พร้อมกับชำระเงินในงวดแรกได้เลย
แต่สิ่งสำคัญคือหากคุณไม่ได้ชำระภายในเวลาที่กำหนดในงวดใดงวดหนึ่ง คุณจะถูกตัดสิทธิการผ่อนชำระภาษีทันที และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
เช่น หากคุณขอผ่อนชำระภาษี 6,000 บาท 3 งวด แบ่งจ่ายงวดละ 2,000 บาท หากคุณจ่ายในงวดแรกไปแล้ว แต่งวดที่ 2 คุณไม่ได้ชำระภายในเวลากำหนด คุณจะถูกตัดสิทธิผ่อนชำระทันที และต้องจ่ายเงินทีเหลือ 4,000 บาท ในครั้งเดียว พร้อมเสียเงินเพิ่มอีก 1.5%ต่อเดือน นับจากวันที่ผิดนัดชำระถึงวันที่คุณนำเงินมาชำระ
หากคุณไม่ได้ชำระภาษีภายเวลากำหนด หรือชำระไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอาการ ที่คุ้นเคยกันก็คือ “เบี้ยปรับ หรือจ่ายเงินเพิ่ม” แต่ขึ้นอยู่กับความผิดว่าร้ายแรงแค่ไหน โดยบางความผิดอาจมีโทษทางอาญาร่วมด้วย
กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ ยื่นภาษี หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากใครที่กำลังเตรียมเอกสารในการยื่นแบบอยู่ และยังไม่แน่ใจว่ารายได้อะไรบ้างที่ต้องยื่นเสียภาษี แล้วมีสิทธิอะไรบ้างที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ เอาเป็นว่า การเสียภาษี เป็นหน้าที่ของทุกคน และควรดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนให้ถูกต้อง และก่อน ยื่นภาษี ควรเช็คเอกสารทุกอย่างให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือยื่นผิดโดยไม่เจตนา