เรามักได้เห็นผู้มีเงินได้ โดนกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบกันมามากมาย ซึ่งคำว่าตรวจสอบอาจทำให้ใครหลาย ๆ คนเป็นกังวลว่าจะต้องรับมืออย่างไร
ความจริงแล้ว บางกรณีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะการเรียกตรวจสอบของกรมสรรพากรอาจเกิดขึ้นจาก กรมสรรพากรต้องการตรวจสอบข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติม ดังนั้นถ้าโดนแล้วก็ต้องเคลียร์ให้เรียบร้อย
วิธีการรับมือ เมื่อกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบมีง่าย ๆ ต่อไปนี้
สิ่งแรก : ถ้ากรมสรรพากรเรียกพบต้องไปพบภายในเวลาและวันที่กำหนด
ระบบภาษีของประเทศไทยเป็นการเสียภาษีแบบประเมินตัวเอง คำนวณรายได้เอง ถ้าหากเราทำถูกต้องโอกาสที่เราจะโดนเรียกพบก็น้อยมาก เว้นแต่ว่ามีการขอคืนภาษีที่อาจต้องมีการขอเอกสารเพิ่มเติม และถ้าหากมีข้อผิดพลาดใด ๆ กรมสรรพากรจะเชิญให้ไปพบ โทรหา หรือออกหนังสือเพื่อเรียกให้ไปพบ
อย่างไรก็ตามการไปพบกรมสรรพากร จะต้องมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เมื่อได้รับหนังสือเรียกพบ นั่นหมายความว่าผู้มีเงินได้คนนั้นต้องไป หรือมอบอำนาจให้คนอื่นไปแทน ตามวันที่นัดหมายในหนังสือ แต่ถ้าหากวันนั้นไม่สะดวกสามารถโทรไปขอเลื่อนหรือปรึกษาทางกรมสรรพากรก่อน
สิ่งที่สอง : ตรวจสอบข้อมูล หรือเอกสารก่อนว่า “ถูกเรียกพบในเรื่องใด”
การที่เราจะได้รับหนังสือเรียกพบจากกรมสรรพากร ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนผิด หรือทำอะไรผิด แต่อาจจะมีเหตุผลอื่น ๆ ซึ่งให้ผู้เสียภาษีตรวจสอบตัวเองก่อนว่าประเด็นที่ถูกเชิญไปพบคืออะไร ทำผิดตรงไหน หรือมีอะไรต้องแก้ไขและเพิ่มเติมในบางเรื่อง การเตรียมตัวให้ถูกต้องจะทำให้เราจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่สาม : เตรียมเอกสารให้พร้อม
เนื่องจากบางประเด็นอาจต้องใช้เอกสารประกอบประเด็นนั้น ๆ เมื่อเรามีเอกสารพร้อมไปเข้าพบกรมสรรพากรจะได้ไปไม่เสียเที่ยว หากอ่านภาษากรมสรรพากรในเอกสารไม่เข้าใจ สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่เบอร์ของกรมสรรพากรได้เลย
รวมถึงเตรียมตัวคนที่จะไปตอบประเด็นต่าง ๆ ให้พร้อม ถ้าหากไปเองก็ขอให้ตอบถูกต้องตามข้อเท็จจริง หรือถ้าหากให้คนไปแทนก็ต้องมั่นใจว่าเขารู้เรื่องจริง ๆ
ที่มา : www.ar.co.th