การบันทึกบัญชีบริษัทเปิดใหม่

การบันทึกบัญชีบริษัทเปิดใหม่


การบันทึกบัญชี

ในการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดย่อม ไปจนถึงขนาดใหญ่ ย่อมต้องมีการบันทึกบัญชีเสมอ เพื่อที่จะสามารถรู้รายละเอียดและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรายการอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการในการขายสินค้าหรือบริการในธุรกิจของตน ซึ่งการบันทึกบัญชีนั้นควรทำเป็นประจำและต่อเนื่องกันไป เพราะหากมีการจัดทำบันทึกบัญชีไม่ต่อเนื่องแล้ว ก็อาจส่งผลให้มีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบันทึกรายการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจได้นั่นเอง

การทำบัญชีมีความสำคัญต่อผู้ประกอบกิจการอย่างไร?

ข้อมูลทางบัญชีสามารถทำให้เจ้าของกิจการทราบความเป็นไปทั้งหมดเกี่ยวกับสถานะการเงินว่า เงินสดได้มาเท่าไหร่และจ่ายออกไปเท่าไหร่ มีเจ้าหนี้ ลูกหนี้ คงค้างอยู่เท่าไหร่ ซึ่งการทำบัญชีที่ดีจะจะต้องมีความสมบูรณ์และง่ายแก่การเข้าใจ เพราะจะทำให้เจ้าของกิจการสามารถมองออก และการที่ผู้ประกอบกิจการมีความเข้าใจเรื่องบัญชีจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ แต่หากจ้างพนักงานมาทำบัญชีแต่ทำงานไม่เป็น ก็อาจถูกสรรพากรปรับและสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการ หรือหากออกงบการเงินให้เป็นผลขาดทุนทำให้ไม่ต้องไปเสียภาษี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และเจ้าของกิจการไม่สามารถปัดความรับผิดชอบไปให้พนักงานบัญชี หรือสำนักงานบัญชีที่ได้ว่าจ้างมาทำบัญชีได้ เพราะนอกจากเจ้าของกิจการจะไม่รู้ความเป็นไปแท้จริงที่เกิดกับธุรกิจแล้ว ยังอาจจะได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญากับทางราชการอีกด้วย

หากเจ้าของกิจการ จบปริญญาตรีทางบัญชี ให้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเซ็นเป็นผู้ทำบัญชีเอง

การบันทึกบัญชีสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบคือ

1.ระบบบัญชีเดี่ยว (Single – entry bookkeeping or single – entry system)

เป็นการบันทึกบัญชีแบบง่าย โดยบันทึกบัญชีเพียงด้านเดียว ซึ่งอาจจะเป็นด้านเดบิตหรือด้านเครดิต เป็นการบันทึกบัญชีเฉพาะรายการในบัญชีเงินสดเท่านั้น หรือรายการบัญชีที่สำคัญๆ จะไม่ได้บันทึกทุกรายการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ดังนั้นการบันทึกบัญชีแบบเดี่ยวนี้จึงไม่ใช่การบันทึกบัญชีแบบทางการ ที่สามารถแสดงรายการทุกรายการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการได้ อีกทั้งการบันทึกบัญชีแบบนี้นิยมใช้กับกิจการที่มีขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะมีเจ้าของดำเนินกิจการเพียงคนเดียวหรือเป็นธุรกิจที่ไม่มีความซับซ้อนทางโครงสร้างธุรกิจ  ที่ต้องติดต่อประสานงานหรือมีรายการเคลื่อนไหวทางรายการในปริมาณมาก โดยเจ้าของกิจการมักเป็นผู้บันทึกบัญชีเอง และการบันทึกบัญชีชนิดนี้ไม่เหมาะกับธุรกิจที่มีขนาดย่อมไปจนถึงขนาดใหญ่ เพราะการบันทึกรายการไม่ครบถ้วนเหมือนการบันทึกบัญชีแบบคู่ ดังนั้นจึงไม่สามารถบ่งชี้ทุกรายการในกิจการได้นั่นเอง จึงอาจทำให้มีปัญหาในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ เมื่อถึงกำหนดที่เจ้าของกิจการต้องการตรวจสอบความถูกต้องทางบัญชี ก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกรายการ รวมทั้งยังไม่สามารถจัดทำงบการเงินได้ด้วย

2.ระบบบัญชีคู่  (Double – entry bookkeeping or double – entry system)

เป็นระบบการบันทึกบัญชีที่มีความละเอียดในการบันทึกมากกว่าการบันทึกบัญชีแบบเดี่ยว จึงทำให้ต้องเก็บรวบรวมรายละเอียดทุกรายการที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการ ซึ่งมีการบันทึกบัญชีทั้ง 2 ด้าน คือด้านเดบิตและด้านเครดิตในเวลาเดียวกัน ดังนั้นต้องบันทึกทุกรายการที่เคลื่อนไหวในแต่ละวัน ซึ่งการบันทึกบัญชีแบบคู่นี้เจ้าของกิจการควรทำการบันทึกทุกวัน เพราะมีรายการที่ค่อนข้างเยอะและมีขั้นตอนการบันทึกที่ละเอียดมากกว่า แต่หากไม่สามารถทำการบันทึกเป็นรายวันได้ ก็ไม่ควรเว้นระยะเกิน 3 วัน เพราะอาจทำให้การเก็บข้อมูลเพื่อบันทึกบัญชีมีความคลาดเคลื่อนได้นั่นเอง
การบันทึกบัญชีระบบคู่นี้ เป็นวิธีที่ใช้ในการบันทึกบัญชีต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยรายการในสมุดรายวันทั่วไป รายการในสมุดบัญชีแยกประเภท รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ ซึ่งการบันทึกด้วยระบบนี้สามารถใช้ได้กับทั้งกิจการขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยการบันทึกบัญชีระบบคู่นี้ จะต้องทำการบันทึกบัญชีทั้งด้านเครดิตและด้านเดบิตทั้ง 2 ด้านเสมอ โดยบันทึกด้านเครดิตบัญชีหนึ่งและบันทึกด้านเดบิตบัญชีหนึ่ง ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝั่งเกิดเงินดุลที่สมบูรณ์นั่นเอง
จุดประสงค์หลักของการบันทึกบัญชีระบบคู่นี้ก็คือ เพื่อสามารถนำบัญชีนี้เสนอรายงานทางบัญชีในแต่ละเดือน หรือสามารถสรุปยอดดุลในแต่ละช่วงเวลาที่ต้องการตรวจสอบได้ ซึ่งการบันทึกบัญชีระบบคู่นี้จะเป็นไปตามหลักสมการที่ว่า “สินทรัพย์เท่ากับหนี้สินและทุนรวมกัน” นั่นเอง

การบันทึกบัญชีระบบคู่สามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้
1.หมวดบัญชีสินทรัพย์

เป็นรายการค้าที่ส่งผลเกี่ยวกับสินทรัพย์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งต้องเป็นรายการที่เกิดเนื่องจากการดำเนินกิจการ ซึ่งการวิเคราะห์ว่าจะบันทึกไว้ด้านเดบิตหรือด้านเครดิต จำต้องวิเคราะห์ก่อนว่าเป็นรายการค้าที่ทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือลดลง หากเป็นรายการค้าที่ทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นก็บันทึกไว้ด้านเดบิต แต่ตรงกันข้ามหากทำให้สินทรัพย์ลดลงก็บันทึกไว้ด้านเครดิต

 2.หมวดบัญชีหนี้สิน

ใช้หลักการวิเคราะห์เหมือนกับหมวดบัญชีสินทรัพย์เช่นกัน คือหากรายการค้าใดทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ก็ให้บันทึกไว้ด้านเครดิต แต่หากรายการใดทำให้มีหนี้สินลดลงก็ให้บันทึกไว้ด้านเดบิต

3.หมวดบัญชีต้นทุน

หากรายการค้าใดมีผลโดยตรงทำให้ทุนของกิจการเพิ่มขึ้นก็บันทึกไว้ด้านเครดิต แต่หากทำให้ทุนลดลงก็ให้บันทึกไว้ด้านเดบิต

4.หมวดบัญชีรายได้

เป็นการวิเคราะห์สมการบัญชีจากบัญชีรายได้และบัญชีทุน หากรายได้เพิ่มขึ้นก็ให้บันทึกบัญชีด้านเครดิต แต่หากรายได้ลดลงก็ให้บันทึกบัญชีด้านเดบิตนั่นเอง

5.หมวดบัญชีค่าใช้จ่าย

วิเคราะห์จากสมการบัญชีเช่นเดียวกัน ถ้าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นให้บันทึกรายการทางด้านเดบิต แต่หากค่าใช้จ่ายลดลงก็ให้บันทึกรายการด้านเครดิต
การบันทึกรายการบัญชีจึงมีความสำคัญต่อทุกกิจการ ซึ่งเจ้าของกิจการควรเลือกระบบการบันทึกบัญชีให้สอดคล้องกับประเภทของกิจการด้วย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำบัญชีโดยแท้จริงสำหรับกิจการนั้นๆ นั่นเอง

การทำบัญชีของธุรกิจเปิดใหม่

ก่อนเริ่มกิจการให้ระวังเรื่องการทำบัญชี ซึ่งรายการบัญชี คือการบันทึกเหตุการณ์ที่กิจการได้เกี่ยวข้องทางการเงินที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน  ซึ่งเจ้าของกิจการรู้ดีที่สุดว่าได้จ่ายเงินให้ใคร เพื่ออะไร และจำนวนเงินเท่าไร โดยจะต้องมีการบันทึกด้วยความเข้าใจเพราะหากแค่จดๆไว้ไม่เป็นระเบียบก็ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ เพราะว่ากิจการที่เป็นนิติบุคคลจะต้องมีหน้าที่ส่งงบการเงินให้กับกระทรวงพาณิชย์ทุกๆ ปี หากงบเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม กิจการจะต้องนำส่งงบการเงินภายใน 150 วันของปีถัดไป  ซึ่งงบการเงินจะต้องได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีภาษีอากร หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต  และยังต้องเสียภาษีให้กรมสรรพากรสองครั้งต่อปี  ครั้งแรกคือจะต้องนำส่งภายในเดือนสิงหาคม ครั้งที่สองจะต้องส่งภายในเดือนพฤษภาคม ยกเว้นกิจการที่เพิ่งเริ่มเปิดเป็นปีแรกไม่ต้องนำส่งภาษีครึ่งปีในเดือนสิงหาคม

ที่มา : www.pangpond.com

 5391
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Landed Cost คือ ต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าจนถึงจุดหมายปลายทาง (เช่น คลังสินค้าของบริษัท) ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากราคาสินค้าเอง ทำให้สามารถคำนวณราคาที่แท้จริงของสินค้าเมื่อถึงมือผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าได้อย่างถูกต้อง
สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่ามักจะมีปัญหาทางการเงินเข้ามาให้เจ้าของธุรกิจต้องคอยรับมืออยู่ตลอดเวลา และแม้จะระมัดระวังเป็นอย่างดีด้วยความเป็นมือใหม่ก็อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าความผิดพลาดด้านการเงิน คือ หนทางแห่งความลำบากในการทำธุรกิจ สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินในการทำธุรกิจ ลองทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านี้ดูเพื่อหาหนทางให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป โดยข้อผิดพลาดที่ผู้ประกอบการมักพบกันก็คือ
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ที่ทำให้กิจการจำเป็นและจำใจต้อง เปลี่ยนสำนักงานบัญชี ใหม่ เรื่องที่สำคัญคือ
โปรแกรม ERP เป็นระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรที่เชื่อมต่อและรวมรวมข้อมูลทั้งหมดขององค์กรในระบบเดียวกัน โดยรวมถึงเรื่องบัญชีทางการเงินด้วย โดยโปรแกรม ERP จะช่วยให้ฝ่ายบัญชีสามารถดำเนินการตรวจสอบรายการเงินสด รายการเจ้าหนี้ รายการลูกหนี้ รายการค่าใช้จ่าย และรายการบัญชีอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย
โปรแกรมบัญชี เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะงานบัญชีคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ ที่ทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารเห็นภาพรวมขององค์กรอย่างชัดเจน การมีโปรแกรมบัญชีเข้ามาช่วยงานบัญชีทำให้องค์กรมีความราบรื่น ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน
"ยื่นภาษี 2566" การจ่ายภาษีเป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนพลเมืองไทย คนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" นี่ก็ผ่านมาถึงกลางปีแล้ว เพราะฉะนั้น ควรวางแผน ลดหย่อนภาษี ไว้แต่เนิ่น ๆ และหากใครกำลังสงสัยว่าสิทธิ "ลดหย่อนภาษี 2565" มีอะไรบ้าง ทีนี่มีคำตอบค่ะ
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์