มีปัญหาว่า บริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถให้กับพนักงานของบริษัทฯ ซึ่งได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวไปใน กิจธุระของบริษัทฯ โดยจ่ายให้ในอัตรากิโลเมตรละ 5 บาท บริษัทฯ พนักงานจะต้องนำเงินได้จำนวนนี้ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ และมีข้อกำหนดให้ต้องมีหลักฐานอะไรบ้าง
เรื่องนี้ กรมสรรพากรมีแนวคำวินิจฉัยว่า
การที่บริษัทฯ จ่ายเงินค่าน้ำมันรถ ให้กับพนักงาน หากจะได้รับยกเว้นตาม มาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้คือ ต้องมีหลักฐานการใช้รถและพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน กล่าวคือต้องจ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนเท่านั้น และได้ จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ นั้นด้วย และบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันรถได้ มีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ไหนถึงไหน ระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถหมายเลขทะเบียนรถ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถ หมายเลขทะเบียนรถ
เงินค่าน้ำมันรถที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้พนักงานส่วนที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ข้างต้น เข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำเงินจำนวนนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ดังนั้น ตามคำถามข้างต้นเมื่อปรากฏว่าการจ่ายค่าน้ำมันรถให้กับพนักงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร จึงต้องถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานทั้งจำนวน
อนึ่ง กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานของบริษัทฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในกรณีที่พนักงานใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปทำงานให้บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำค่าน้ำมันดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ที่มา : www.pattanakit.net