อย่างแรกเลย หากดูจากชื่อ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั่นก็คือ ภาษีที่ต้องจ่ายไปในทันทีตรงที่ที่เรามีรายได้นั่นเองแต่ภาษีในส่วนนี้เราไม่ได้เป็นผู้ที่ยื่นเองทุกครั้งเพราะผู้ที่ต้องจ่ายคือผู้ที่ให้เงินกับเรามานั่นเอง(ยกเว้นอยู่กรณีเดียวซึ่งจะพูดต่อไป) ซึ่งในทางกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเราสามารถยื่นจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย นี้ได้ภายในวันที่ 7 ของเดือน ถัดไปนับตั้งแต่เรามีรายได้ก้อนนั้นเข้ามา แต่ถ้าหากว่าแจ็กพ็อตว่าวันที่ 7 ของเดือนถัดไปนั้นเป็นวันหยุดราชการ เราก็สามารถเลื่อนวันที่เราต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกไปได้จนถึงวันแรกที่เปิดทำการหลังจากวันที่ 7 นั่นเอง
สำหรับผู้ที่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั่นคือบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่เป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตามทางกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่มีรายได้ในแต่ละครั้งนั้นถ้าไม่ถึง 1,000 บาทก็ไม่ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย และกำหนดในมีกรณีที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายและผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดังนี้
1. เงินได้นั้นเป็นค่านายหน้า ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์
ผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ บริษัทห้างหุ้นส่วนและมูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันออกไป คือร้อยละ 3.0 และ 10.0 ตามลำดับ ดังนั้นใครที่เปิดบริษัทหรือกำลังคิดจะเปิดบริษัทเพื่อทำธุรกิจแล้วล่ะก็ เตรียมตัวเสียภาษีส่วนนี้กันได้เลย จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ที่คุณจะต้องเสียด้วย
2. เงินได้นั้นเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน พันธบัตรหุ้นกู้
ผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ บริษัทห้างหุ้นส่วนไม่รวมถึงธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนและมูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันออกไป คือร้อยละ 1.0 และ 10.0 ตามลำดับ
3. เงินได้นั้นเป็นค่าเช่าอาคารหรือบ้าน
ผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ บริษัทห้างหุ้นส่วน มูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่มีข้อยกเว้น และบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันออกไป คือร้อยละ 5.0 10.0 และ 5.0 ตามลำดับ ดังนั้นผู้ที่เปิดกิจการให้เช่าบ้าน อพาร์ทเม้น หรือห้องเช่าต่างๆ จึงต้องเสียภาษีในส่วนนี้ด้วย
4. เงินได้นั้นเป็นค่าค่าจ้างทำของ
เช่น การรับเหมาก่อสร้าง และค่าบริการต่างๆ ผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ บริษัทห้างหุ้นส่วน และบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่เท่ากันคือร้อยละ 3.0
5. เงินได้นั้นเป็นค่าโฆษณา
ผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่เท่ากัน คือร้อยละ 2.0
6. เงินได้นั้นเป็นค่าขนส่ง
เช่น จ้างรถขนของ เป็นต้น ผู้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายคือ นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่เท่ากัน คือร้อยละ 1.0
สำหรับการยื่นจ่าย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย นี้ ทางกฎหมายได้กำหนดให้ใช้แบบฟอร์มในการยื่นเสียภาษีที่แตกต่างกันออกไป โดยผู้ที่ใช้แบบภ.ง.ด. 53 ยื่นได้แก่ นิติบุคคล บริษัทห้างหุ้นส่วนที่ไม่มีข้อยกเว้นและมูลนิธิหรือสมาคมที่ไม่มีข้อยกเว้นนั่นเอง ส่วนบุคคลธรรมดาจะใช้แบบภ.ง.ด. 3 ในการยื่นจ่ายภาษีนั่นเอง เพราะฉะนั้นในการยื่นแบบภาษี จึงควรยื่นแบบให้ถูกต้อง และยื่นให้ตรงเวลาเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมาทีหลังนั่นเอง
ที่มา : moneyhub.in.th