นำสินค้ามาใช้ในกิจการของตนเอง ต้องเสียภาษีด้วยหรือ?

นำสินค้ามาใช้ในกิจการของตนเอง ต้องเสียภาษีด้วยหรือ?



บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการขายสินค้าซึ่งต้องมีสินค้าอยู่ในสต็อกเก็บไว้เพื่อรอการขายเสมอแต่ในหลายกรณีบริษัทฯ ได้นำสินค้าที่มีไว้เพื่อขายมาเบิกใช้ในกิจการ จึงมีประเด็นขึ้นมาว่าถ้าสินค้าที่มีไว้เพื่อขายนั้นเมื่อนำมาใช้เสียเองแล้ว จะถือเป็นรายได้ทางภาษีอย่างไร และจะต้องเสียภาษีใช่หรือไม่ การตอบคำถามดังกล่าวจึงต้องแยกพิจารณาตามข้อกฎหมายของแต่ละกรณี ซึ่งจะแยกตามประเภทภาษีเพื่อความเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

      การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นบริษัทฯ ต้องนำรายการได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฏากร ดังนั้น รายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิจึงเป็นรายได้ที่ได้จากกิจการ  เช่น การขายสินค้า การให้เช่าทรัพย์สิน การรับจ้างทำของ การให้บริการ เป็นต้น สำหรับกรณีที่บริษัทฯ ไม่ได้มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการแต่เป็นการนำสินค้า ทรัพย์สิน หรือสินค้าไปใช้เองไม่ว่าจะเป็นการโอนสินค้าหรือทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้ในกิจการของบริษัทฯ เอง เช่น นำสินคาจากสำนักงานใหญ่ไปเก็บไว้ที่สาขาเพื่อรอการขาย หรือการนำสินค้าไปใช้ในกิจการของบริษัทฯ เองโดยตรง เช่น บริษัทฯขายคอมพิวเตอร์ และได้นำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในกิจการของตนเองที่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล           

จึงสรุปได้ว่า สำหรับการโอนทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัทฯ ไปใช้ในกิจการของบริษัทฯ เอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่บริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด      

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 

      ภาษีมูลค่าเพิ่มจะจัดเก็บจากการขายสินค้าในราชอาณาจักร การให้บริการในราชอาณาจักร และการนำเข้าสินค้า ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การนำสินค้าหรือบริการไปใช้ในกิจการของตนเองจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือมีจึงต้องพิจารณาว่า เป็นการขายสินค้าหรือบริการหรือไม่ ถ้าไม่เป็นการขายสินค้าหรือบริการก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดว่ากรณีการนำสินค้าหรือบริการไปใช้ในกิจการของตนเองที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีดังนี้

     (1) ตามมาตรา 77/1(8)(ง)แห่งการประมวลรัษฎากร

      ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่1) ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2534 กำหนดหลักเกณฑ์สรูปได้ว่าการนำสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถ้าขายไปให้บุคคลอื่นก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้นำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำสินค้าไปใช้ในกิจการดังกล่าวถือเป็นการ ขาย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

      ตัวอย่าง  บริษัท ก.จำกัด ประกอบกิจการขายน้ำแข็งซึ่งเป็นการขายสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประกอบกิจการขายปลาสลิดสดในประเทศ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)ก)แห่งประมวลรัษฎากร  บริษัท ก.ได้นำน้ำแข็งที่มีไว้เพื่อขายดังกล่าวไปแช่ปลาของตนเอง จึงเป็นการนำเอาสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งถือเป็นการ “ขาย” สินค้า(คือน้ำแข็ง) บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าของน้ำแข็งดังกล่าวมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนที่นำน้ำแข็งไปใช้แช่ปลาด้วย

      ทั้งนี้ ในกรณีที่นำสินค้าไปใช้ในกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนี้จะไม่ถือว่าเป็นการขายสินค้า จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ สินค้าที่นำไปใช้นั้นเป็นสินค้าประเภทรถยนต์นั่ง (เช่นรถเก๋ง) หรือรถตู้โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (เช่น รถตู้ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง) ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการ "ขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      ตัวอย่าง  บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการขายพรมซึ่งเป็นการขายสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  บริษัท ข.ได้นำพรมที่เป็นสินค้ามีไว้เพื่อขาย โอนไปเป็นทรัพย์สินเพื่อมีไว้ให้เช่า การนำพรมที่มีไว้เพื่อขาย(ตัดสต็อก) นำไปใช้เป็นทรัพย์สินเพื่อมีไว้เพื่อให้เช่าเป็นการนำทรัพย์สินที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเช่นกัน จึงไม่ถือว่าเป็นการ “ขาย” และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      ตัวอย่าง  บริษัท ค.จำกัด ประกอบกิจการขายรถเก๋ง ได้นำรถเก๋งที่มีไว้เพื่อขายนำไปใช้เป็นทรัพย์สินเพื่อนำออกไปให้เช่า ซึ่งการประกอบกิจการขายรถเก๋งและกิจการให้เช่ารถเก๋ง ต่างก็เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เนื่องจากเป็นการนำสินค้าที่เป็นรถเก๋งไปใช้ในกิจการของตนเอง (ให้เช่า)ซึ่งถือเป็นการ ขาย จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับมูลค่าของรถเก๋งที่นำไปใช้ในกิจการของตนเองนั้นด้วย

(2) ตามมาตรา 77/1(10)แห่งประมวลรัษฎากร

ประกอบกับการประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2534 กำหนดหลักเกณฑ์สรุปได้ว่า การนำบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งถ้าให้บริการแก่บุคคลอื่นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้นำบริการดังกล่าวไปใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำบริการไปใช้ในกิจการดังกล่าวถือเป็น "บริการ" จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

      ตัวอย่าง  บริษัท จ.จำกัด ประกอบกิจการรับจ้างซ่อมรถยนต์ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประกอบกิจการรับขนส่งในประเทศซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รถยนต์บรรทุกที่ใช้ในกิจการขนส่งเกิดอุบัติเหตุต้องซ่อม บริษัท จ.จึงให้แผนกซ่อมรถยนต์ของบริษัทฯ ที่รับจ้างซ่อมเป็นการทั่วไป ทำการซ่อมรถบรรทุกนั้น การให้บริการซ่อมรถยนต์ของตนเองซึ่งใช้ในกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจึงถือเป็น “บริการ’’ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

      ทั้งนี้ ในกรณีที่นำบริการไปใช้ในกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนี้จะไม่ถือเป็น “บริการ” จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่บริการที่นำไปใช้ในกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นกิจการที่นำไปใช้เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือเป็นบริการที่นำไปใช้กับรถยนต์นั่ง(เช่นรถเก๋ง) และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิก!!


ที่มา : www.pattanakit.net

 2257
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Landed Cost คือ ต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าจนถึงจุดหมายปลายทาง (เช่น คลังสินค้าของบริษัท) ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากราคาสินค้าเอง ทำให้สามารถคำนวณราคาที่แท้จริงของสินค้าเมื่อถึงมือผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าได้อย่างถูกต้อง
สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่ามักจะมีปัญหาทางการเงินเข้ามาให้เจ้าของธุรกิจต้องคอยรับมืออยู่ตลอดเวลา และแม้จะระมัดระวังเป็นอย่างดีด้วยความเป็นมือใหม่ก็อาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าความผิดพลาดด้านการเงิน คือ หนทางแห่งความลำบากในการทำธุรกิจ สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินในการทำธุรกิจ ลองทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านี้ดูเพื่อหาหนทางให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป โดยข้อผิดพลาดที่ผู้ประกอบการมักพบกันก็คือ
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ที่ทำให้กิจการจำเป็นและจำใจต้อง เปลี่ยนสำนักงานบัญชี ใหม่ เรื่องที่สำคัญคือ
โปรแกรม ERP เป็นระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรที่เชื่อมต่อและรวมรวมข้อมูลทั้งหมดขององค์กรในระบบเดียวกัน โดยรวมถึงเรื่องบัญชีทางการเงินด้วย โดยโปรแกรม ERP จะช่วยให้ฝ่ายบัญชีสามารถดำเนินการตรวจสอบรายการเงินสด รายการเจ้าหนี้ รายการลูกหนี้ รายการค่าใช้จ่าย และรายการบัญชีอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย
โปรแกรมบัญชี เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะงานบัญชีคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ ที่ทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารเห็นภาพรวมขององค์กรอย่างชัดเจน การมีโปรแกรมบัญชีเข้ามาช่วยงานบัญชีทำให้องค์กรมีความราบรื่น ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน
"ยื่นภาษี 2566" การจ่ายภาษีเป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนพลเมืองไทย คนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" นี่ก็ผ่านมาถึงกลางปีแล้ว เพราะฉะนั้น ควรวางแผน ลดหย่อนภาษี ไว้แต่เนิ่น ๆ และหากใครกำลังสงสัยว่าสิทธิ "ลดหย่อนภาษี 2565" มีอะไรบ้าง ทีนี่มีคำตอบค่ะ
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์