TAX กับ VAT เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในโลกออนไลน์กันอย่างต่อเนื่องว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และถือเป็นการเสียภาษีให้กับภาครัฐเหมือนกันหรือไม่?
TAX (ภาษี) คือ สิ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชน เพื่อนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมิได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร โดยแบ่งเป็นภาษีทางตรง (ภาษีที่ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นได้) และภาษีทางอ้อม (ภาษีที่สามารถผลักภาระให้ผู้อื่นได้)
ในกรณีที่เป็นบุคคลที่มีรายได้ อาทิ เงินเดือน ค่าจ้าง จะมีหน้าที่ในการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขณะที่บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเป็นภาษีทางตรงที่คำนวณแบบขั้นบันไดทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
กรมสรรพากรให้นิยามของ VAT (Value Added Tax) หรือภาษีมูลค่าเพิ่มว่าเป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยจัดอยู่ในภาษีทางอ้อม
ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต หรือเป็นผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีและมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้)
ประชาชนทั่วไปไม่ได้เสียภาษีโดยตรง แต่ผู้ประกอบการจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเท่ากับเป็นการเสียภาษีทางอ้อมนั่นเอง