ค่ารับรองที่เกิดขึ้นในกิจการไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในบริษัทได้ หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นมาดูกันว่าทำอย่างไรให้นำค่ารับรองมาบันทึกเป็นรายจ่ายได้
ค่ารับรองแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ เป็นต้น
2. ค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือการบริการ
ค่ารับรองสามารถนำมาลงเป็นรายจ่ายได้เมื่อเข้าเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้
กรณีค่าใช้จ่าย
1. ต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ
2. ต้องเป็นการรับรองตามธรรมเนียม ประเพณีธุรกิจทั่วไป
3. ผู้ที่ได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ลูกจ้างมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
4. ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการหรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น
5. ต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงิน
กรณีค่าสิ่งของ
1. มูลค่าของสิ่งของที่ให้ต้องไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน
2. ต้องเป็นการรับรองตามธรรมเนียม ประเพณีธุรกิจทั่วไป
3. ผู้ที่ได้รับของขวัญต้องไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
4. ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการหรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่าสิ่งของ
5. ต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับเงิน
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จำนวนเงินรวมที่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายได้รวมกันต้อง
ไม่เกิน 0.3% ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมหรือคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี หรือ
ไม่เกิน 0.3% ของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
ค่าเลี้ยงรับรองลูกค้าเป็นส่วนที่สำคัญในการประกอบธุรกิจเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรเข้าใจในเงื่อนไขของค่ารับรองหรือค่าบริการ เพื่อช่วยให้สามารถนำมารวมเป็นรายจ่ายและไม่เสียประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี
อ้างอิง: กรมสรรพากร